
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. ธนพันธ์ ไล่ประกอบทรัพย์2 และคณะ3
.
บทนำ
การปรับตัวของเกษตรกรในห้วงเวลาปัจจุบัน เป็นสิ่งสำคัญต่อความอยู่รอดและการพัฒนาอย่างยั่งยืนของเกษตรกรเองในห้วงเวลาปัจจุบันที่เกษตรกรได้รับผลกระทบจากสภาวการณ์ต่าง ๆ เช่น ความผันผวนของราคาสินค้าเกษตร (Agricultural Price Fluctuation) ที่มีแนวโน้มตกต่ำ ความเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) และโดยเฉพาะการขยายตัวของเมือง (Urban Expansion) การขยายตัวของเมือง (ซึ่งในที่นี่หมายถึงการขยายตัวของที่อยู่อาศัยในเขตเมือง) ส่งผลกระทบอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ต่อพื้นที่ทางการเกษตรซึ่งเป็นคนที่ทำการเพาะปลูกและอาศัยอยู่ในพื้นที่นั้นมาแต่เดิม ผลกระทบของการขยายตัวของที่อยู่อาศัยสมัยใหม่ (เช่น หมู่บ้านจัดสรร คอนโดมิเนี่ยม) ต่อพื้นที่เกษตรกรรม ได้แก่
- การลดลงของพื้นที่เกษตรกรรมซึ่งสืบเนื่องมาจากการขยายตัวของที่อยู่อาศัยสมัยใหม่
- ผลผลิตทางการเกษตรลดลงซึ่งสืบเนื่องมาจากมลภาวะทางสิ่งแวดล้อม ได้แก่ น้ำเสียจากการบริโภค และอากาศเป็นพิษจากการก่อสร้างโครงการที่อยู่อาศัยขนาดใหญ่
- ผลผลิตทางการเกษตรไม่ออกผลตามฤดูกาลที่ควรจะมาอันสืบเนื่องมาจากอุณหภูมิที่สูงขึ้นจนทำให้สภาพอากาศร้อน
ผู้เขียนได้นำคณะนิสิตในวิชาสัมมนาการเมืองและการเปลี่ยนแปลงทางสังคมเยี่ยมเยียนกลุ่มวิสาหกิจชุมชนบางรักใหญ่และบ้านสวนถมยาของ คุณ ยุพา พรรณกลิ่น เพื่อสัมภาษณ์และเก็บข้อมูลรูปและวิธีการปรับตัวของกลุ่มคนที่ทำการเกษตรในพื้นที่ที่ติดกับเมืองและท่ามกลางการขยายตัวอย่างรวดเร็วและต่อเนื่องของเมือง รวมทั้งรูปแบบการให้บริการท่องเที่ยวในพื้นที่โดยใช้ประโยชน์จากทรัพยากรที่กลุ่มมีอยู่อีกด้วย
.
อธิบายที่ตั้ง สภาพพื้นที่ และปัญหาสิ่งแวดล้อมกลุ่มวิสาหกิจชุมชนบางรักใหญ่และบ้านสวนถมยา
.
กลุ่มวิสาหกิจชุมชนบางรักใหญ่และบ้านสวนถมยาตั้งอยู่บ้านคลองบางไผ่ หมู่ที่ 1 ตำบล บางรักใหญ่ อำเภอ บางบัวทอง จังหวัด นนทบุรี โดยมีคลองแม่น้ำอ้อม[4] หรือ “คลองอ้อมนน” และมีคลองตัดผ่านหน้าหมู่บ้านเป็นแนวยาวโดยมีบ้านของชาวบ้านตั้งอยู่ริมสองฝั่งคลอง เนื่องจากคลองนี้เชื่อมกับแม่น้ำเจ้าพระยาได้ ชาวบ้านจึงมักใช้คลองในการสัญจรเดินทางออกไปทำงานได้เพราะมีเรือรับจ้างให้บริการ (เฉพาะช่วงเช้ากับช่วงเย็น)
จากการสัมภาษณ์คุณ ยุพา ในอดีต ชาวบ้านปลูกต้นไผ่เอาไว้ทำประโยชน์ เช่น จักสาน อุปกรณ์รดน้ำต้นไม้ จึงได้ชื่อว่าบางไผ่เพราะมีต้นไผ่มากมาย ซึ่งก็สะท้อนให้เห็นว่าชุมชนนี้มีรากเหง้าความพยายามในการนำทรัพยากรที่ตนเองมีอยู่มาแปรรูปและใช้ให้เกิดประโยชน์มาแต่ดั้งเดิมและตกทอดกันมาจนถึงปัจจุบัน นอกจากนี้ วิสาหกิจชุมชนบางรักใหญ่และบ้านสวนถมยาตั้งอยู่ใกล้กับโรงเรียนและวัดโมลีซึ่งเป็นสถานที่สำคัญในการออกร้านขายสินค้าของวิสาหกิจชุมชนในช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์อีกด้วย การเดินทางไปยังวิสาหกิจชุมชนสะดวกมากขึ้นเพราะมีเส้นทางคมนาคมหลายทาง ได้แก่ ทางรถยนต์และรถไฟฟ้าสายสีม่วง
ในระยะ 20 ปีมานี้ พื้นที่ชุมชนถูกล้อมไปด้วยโครงการที่อยู่อาศัยสมัยใหม่ ได้แก่ หมู่บ้านจัดสรรและคอนโดมิเนี่ยม[5] ในระยะแรก ๆ (ช่วงปี พ.ศ. 2535 – 2550) โครงการหมู่บ้านจัดสรรเริ่มขยายตัวมากขึ้นเพราะรัฐบาลมีโครงการตัดถนนและขยายถนนเพิ่มขึ้น ทำให้ดึงดูดผู้คนให้ย้ายออกมาอยู่บริเวณดังกล่าว ต่อมาในระยะหลัง (ช่วงปี พ.ศ. 2550 – ปัจจุบัน) โครงการคอนโดมิเนี่ยมหรือที่อยู่อาศัยแนวตั้งขยายตัวมากขึ้นเพราะรัฐบาลมีโครงการสร้างรถไฟฟ้าสายสีม่วง (บางใหญ่ – เตาปูน) เพื่อเชื่อมผู้คนในเขตปริมณฑลกับตัวเมือง

รูปที่ 1: พื้นที่อำเภอบางบัวทอง จังหวัด นนทบุรี ที่มา: Google Map (2562) สืบค้นเมื่อวันที่ 22 เมษายน 2562
รูปภาพที่ 1 แสดงให้เห็นว่าพื้นที่ที่อยู่อาศัย (หมู่บ้านจัดสรร) (และโรงงานอุตสาหกรรมขนาดเล็ก) กลายเป็นพื้นที่หลักในเขตอำเภอบางบัวทอง ส่วนพื้นที่สีเขียวกลายเป็นพื้นที่ส่วนน้อยและถูกล้อมด้วยพื้นที่ที่อยู่อาศัย ส่วนรูปที่ 2 ชี้ให้เห็นว่าที่ตั้งของวิสาหกิจชุมชนและบ้านสวนถมยาถูกรายล้อมไปด้วยโครงการหมู่บ้านจัดสรรขนาดใหญ่ อย่างไรก็ดี ยังเห็นพื้นที่สีเขียวที่มีลักษณะการทำการเกษตรอยู่บ้าง

รูปที่ 2: ที่ตั้งวิสาหกิจชุมชนบางรักใหญ่และบ้านสวนถมยา ที่มา: Google Map (2562) สืบค้นเมื่อวันที่ 22 เมษายน 2562
จากการพูดคุยกับคุณ ยุพา และสมาชิกกลุ่ม การขยายตัวของโครงการที่อยู่อาศัยขนาดใหญ่ทำให้เกิดปัญหามลภาวะทางน้ำเนื่องจากมีการปล่อยน้ำเสียจากการบริโภคของหมู่บ้านจัดสรรจำนวนมากลงคลองโดยไม่ผ่านการบำบัดน้ำเสียก่อน ทำให้น้ำมีสีดำและกลิ่นเหม็นไม่สามารถใช้ทำการเกษตรได้ ต้องซื้อน้ำประปามารดน้ำ
“บางปีเราต้องซื้อน้ำประปามาใช้รดน้ำสวนนะอาจารย์”[6]
ทำให้เป็นภาระต้นทุนการเพาะปลูกเพิ่มมากขึ้น อีกหนึ่งปัญหาที่สมาชิกพูดถึงก็คือปัญหาอุณหภูมิสูงขึ้น สภาพอากาศที่ร้อนมากขึ้นทำให้ผลผลิตไม่ออกตามฤดูกาลและรสชาดของผลผลิตก็เปลี่ยนไปด้วย ทำให้คาดการณ์การเพาะปลูกได้ยาก
.
ที่มา วัตถุประสงค์ของกลุ่ม และกิจกรรมของกลุ่ม
.
ต่อมาในปี พ.ศ. 2560 ชาวบ้านจัดตั้งกลุ่มวิสาหกิจชุมชนบางรักใหญ่โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรและการแปรรูปอาหารอย่างเป็นกิจลักษณะ และการท่องเที่ยวในพื้นที่ชุมชนอย่างเป็นระบบ การพัฒนาดังกล่าวจำเป็นต้องได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐ การจัดตั้งกลุ่มวิสาหกิจชุมชนเป็นโอกาสที่ชาวบ้านสามารถขอรับการสนับสนุนวิสาหกิจชุมชนจากหน่วยงานภาครัฐตามโครงการ 9101 ตามรอยเท้าพ่อหรือโครงการ OTOP นวัตวิถี ส่วนบ้านสวนถมยาเป็นของคุณ ยุพา สวนมีเนื้อที่ประมาณ 3 ไร่ ตั้งอยู่ภายในบ้านของคุณ ยุพา โดยคุณ ยุพา ปลูกผักและผลไม้หลายอย่าง เช่น มะละกอ ตะลิงปลิง กล้วย มะปราง เป็นต้น
ชาวบ้านในพื้นที่รวมตัวทำกิจกรรมในรูปแบบของการขายผลผลิตทางการเกษตรของตนเองมาตั้งแต่ดั้งเดิมแล้ว โดยเป็นการขายผลไม้จากสวนของตนเองและรวมตัวกันเป็นตลาดขายสินค้าที่วัดโมลีทุกวันเสาร์และอาทิตย์
กิจกรรมของกลุ่มแบ่งออกเป็น 4 ส่วน ส่วนที่ 1 การแปรรูปผลไม้ในพื้นที่ถือเป็นกิจกรรมหลักของกลุ่ม การแปรรูปผลไม้มีด้วยกัน 2 แบบ คือ การแปรรูปผลไม้เป็นอาหารทานเล่นกับการอบผลไม้แห้ง ผลิตภัณฑ์ที่น่าสนใจ ได้แก่ ตะลิงปลิง มะยงชิด พริกไทย ข้าวต้มมัด เมี่ยงคำสดและเมี่ยงคำแห้ง กลุ่มพัฒนาการแปรรูปผลไม้และการทำอาหารทานเล่นโดยอาศัยประสบการณ์และคำแนะนำจากลูกค้าเป็นหลัก นอกจากนี้ หน่วยงานภาครัฐ เช่น กรมการพัฒนาชุมชน เข้ามาอบรมและพากลุ่มไปดูงานในกลุ่มวิสาหกิจชุมชนอื่น ๆ เพื่อเป็นแบบอย่างในการแปรรูปผลผลิต กลุ่มพัฒนาเครื่องอบผลไม่แสงอาทิตย์ขึ้นมาเพื่อทำการใช้อบผลไม้อีกด้วย

ส่วนที่ 2 การขายผลไม้ตามฤดูกาล สมาชิกยังขายผลไม้ในสวนที่ตนเองปลูกตามฤดูกาลอีกด้วย ผลไม่หลัก ๆ ได้แก่ กล้วย มะละกอ มะม่วง พริกไทยสด มะยม ส้มโอ เป็นต้น โดยกลุ่มขายผลไม้ใน 3 ช่องทาง ได้แก่ 1) ขายที่ตลาดนัดวันเสาร์และอาทิตย์หน้าวัดและงานแสดงสินค้าวิสาหกิจชุมชน 2) ขายผ่านทางสื่อสังคมออนไลน์ (เพจของกลุ่มและเพจบ้านสวนถมยา) 3) ลูกค้าประจำสั่งจองหรือมีการบอกต่อ ๆ กันไป นอกจากนี้ ยังมีนักท่องเที่ยวให้ความสนใจซื้อผักและผลไม้ของกลุ่มอีกด้วย
.
การท่องเที่ยวในพื้นที่

ส่วนที่ 3 การท่องเที่ยวในพื้นที่ กลุ่มได้หันมาให้ความสนใจพัฒนากิจกรรม “การท่องเที่ยวหนึ่งวันภายในพื้นที่ (One-Day Trip)” โดยได้รับการสนับสนุนจากโครงการ OTOP นวัตวิถีและการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย กลุ่มยังใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีปัจจุบันโดยใช้ application ของ AIRBNB ในการประชาสัมพันธ์การท่องเที่ยวของกลุ่มอีกด้วย สมาชิกกลุ่มจะเป็นไกด์นำเที่ยวในพื้นที่ชุมชนเริ่มตั้งแต่เวลา 10.00 น. ถึง 15.30 น. โดยเส้นทางการท่องเที่ยวและกิจกรรม ได้แก่
- วัดโมลีเพื่อไหว้พระ
- ท่องเที่ยวตลาดน้ำวัดโมลี (เฉพาะวันเสาร์-อาทิตย์)
- ล่องเรือตามคลองเพื่อดูวิถีชุมชน
- ล่องเรือตามคลองเพื่อดูวิถีชุมชน
- ชมบ้านสวนถมยาและสวนอินทรีย์ของกลุ่ม
- สาธิตและสอนการทำกิจกรรมของกลุ่ม เช่น แปรรูปผลไม้หรือทำอาหารทานเล่น
- นั่งหรือนอนพักผ่อนริมคลอง
นักท่องเที่ยวมาหลายรูปแบบ เช่น มีการจองและนัดหมายเวลาล่วงหน้าโดยมาเป็นหมู่ คณะและแบบ 2-3 ราย และมาแบบไม่ได้มีการนัดหมาย กล่าวคือ นักท่องเที่ยวแวะมาตามหมุดพิกัดใน application ของ AIRBNB (รูปที่ 5) ก็มีซึ่งทำให้ตลาดการท่องเที่ยวของกลุ่มขยายมากขึ้น

.
การจักสาน

ส่วนที่ 4 การจักสาน ถือเป็นกิจกรรมล่าสุดของกลุ่มเนื่องจากกลุ่มประสบปัญหาผักตบชวาในลำคลองกีดขวางทางสัญจรและทำให้น้ำเน่าเสีย ทางกลุ่มเลยแปรรูปผักตบชวาและนำมาเป็นวัตถุดิบในการแปรรูปจักสานเพื่อตบแต่งกับผลิตภัณฑ์แปรรูปของกลุ่ม เช่น สานตะกร้าใส่ผลไม้ ต่อมา คุณ ยุพา มีความคิดว่า น่าจะผนวกกิจกรรมการจักสานเป็นสวนหนึ่งของกิจกรรมท่องเที่ยวโดยสาธิตให้นักท่องเที่ยวดูหรือสอนหากใครอยากเรียนรู้
.
บทสรุปและข้อเสนอแนะ
.
สรุปการปรับตัวของเกษตรกรในพื้นที่เมือง
- แปรรูปผลไม้เพื่อเพิ่มมูลค่าผลผลิต
- แปรรูปวัชพืชทางธรรมชาติเพื่อเพิ่มมูลค่าผลผลิต
- วางแผน ออกแบบ และปรับสถานที่น่าสนใจในพื้นที่มาเป็นทำเป็นการท่องเที่ยวในพื้นที่
- นำเอาสวนเกษตรอินทรีย์มาปรับเป็นสถานที่ท่องเที่ยว
- นำเทคโนโลยีการสื่อสารสมัยใหม่ เช่น social media หรือ application ของ AIRBNB มาใช้ประชาสัมพันธ์
ข้อเสนอแนะต่อกลุ่ม
- นำเทคโนโลยีมาปรับใช้ในการเกษตร เช่น ใช้เครื่องวัดความชื้นในดินเพื่อปรับระดับน้ำในการเพาะปลูกให้เหมาะสมทำให้ได้ผลผลิตที่มีคุณภาพมากขึ้น
- ใช้เทคโนโลยีส่งเสริมการประชาสัมพันธ์และการขายเพื่อเพิ่มยอดขาย เช่น ขายสินค้าทางออนไลน์
- สร้างพลังต่อรองของกลุ่มแก่ชุมชน โดยการรวมกลุ่มทำกิจกรรมอื่น ๆ เพื่อสร้างความสัมพันธ์ที่ดี และเพื่อสร้างกลุ่มที่เข้มแข็ง
- สร้างเสริมเครือข่ายความสัมพันธ์ออกไปนอกกลุ่ม เช่น วิสาหกิจกลุ่มอื่น ๆ ใกล้เคียงเพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลความรู้
ข้อเสนอแนะเชิงนโยบายของภาครัฐ
- สนับสนุนเกี่ยวกับตลาดและพื้นที่ขายให้แก่กลุ่ม หรืออย่างน้อยก็ให้กลุ่มมีโอกาสไปส่งสินค้าไปขายยังตลาดในระดับชาติหรือนานาชาติ
- รัฐสนับสนุนอุปกรณ์การผลิต เพื่อลดต้นทุนการใช้จ่ายและดึงดูดให้คนอายุน้อยกลับมารับช่วงต่อในชุมชน
- ส่งเสริมการรวบรวม/ให้/สร้างความรู้ในชุมชน เพื่อง่ายต่อการต่อยอดและสืบสานวิถีการผลิตและวิถีการดำเนินชีวิตของชุมชนบางรักใหญ่
- เปลี่ยนแปลงแนวคิดการพัฒนาวิสาหกิจชุมชนแบบระยะสั้นตามปีงบประมาณเป็นการพัฒนาระยะยาว
- สนับสนุนและส่งเสริมการลงทุนจากธุรกิจภายในประเทศและต่างประเทศโดยทำงานร่วมกับวิสาหกิจชุมชน
[1] Research brief ฉบับนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการวิจัยชื่อ “ผลกระทบของเมืองต่อชาวนาและการปรับตัวของเกษตรกรเพื่อชุมชนอัจฉริยะที่น่าอยู่อาศัย” ภายใต้โครงการ เมืองอาเซียนในช่วงเปลี่ยนผ่าน: สู่ชุมชนอัจฉริยะที่น่าอยู่อาศัย ได้รับการสนับสนุนโดย กองทุนรัชดาภิเษกสมโภช คลัสเตอร์อาเซียนศึกษา และกิจกรรมตามแผนการเรียนการสอนวิชา 2401482 สัมมนาการเมืองกับการเปลี่ยนแปลงทางสังคม ปีการศึกษา 2561 ความคิดเห็นในบทความนี้ไม่ได้สะท้อนความคิดเห็นของหน่วยงานที่สนับสนุนการวิจัยและวิสาหกิจชุมชนที่ให้ข้อมูล
[2] ผู้เขียนหลัก (Corresponding author) อาจารย์ประจำภาควิชาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ นักวิจัยหน่วยปฏิบัติการวิจัยชาวนาร่วมสมัย (Contemporary Peasant Study Research Unit) และศูนย์ความเลิศด้านการเมืองทรัพยากรและการพัฒนาสังคม (Center of Excellence in Resource Politics and Social Development) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
[3] นิสิตชั้นปีที่ 4 ภาควิชาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ญานิศา พัดเจริญ, ปรีชานนท์ มุกดาประกร, ศุภกร ศิริญญามาศ, สรีนา หมาน, เอกรัฐ สุขประเสริฐ, อุทุมพร เชิดสุริยา
[4] จากการสัมภาษณ์คุณ ยุพา และสมาชิกกลุ่มมักเรียกคลองอ้อมว่า “คลองแม่น้ำอ้อม” เสมอ ๆ
[5] ในวันที่ผู้เขียนและคณะนิสิตไปเยี่ยมกลุ่มวิสาหกิจชุมชน มีการตั้งกำแพงชั่วคราวเพื่อก่อสร้างคอนโดมิเนี่ยมใหม่
[6] สัมภาษณ์เมื่อวันที่ 25 มีนาคม 2562 อ. บางบัวทอง จ. นนทบุรี
Be First to Comment